Categories
ข่าวกีฬา

การบริหารทีมแบบผิดฝาผิดตัวของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด มีผลงานที่ดรอปลงในช่วง 2-3 ปีหลัง และโดยเฉพาะฤดูกาลก่อน

ที่ได้ลิ้มลองรสชาติของความล้มเหลวเข้าอย่างจังกับการที่ไม่สามารถคว้าแชมป์ใดๆมาครองได้เลย นั่นจึงทำให้ฤดูกาล 2021/22 นี้ ปราสาทสายฟ้าพยายามปรับแนวทางบางอย่างเพื่อผลงานที่ดีขึ้น แต่จากผลงาน 4 นัดที่ผ่านมา มันก็เริ่มทำให้เห็นว่า บุรีรัมย์ คิดถูก แต่ใช้ไม่ถูกกับคน

อย่างแรก บุรีรัมย์ เลือกใช้โค้ชคนเดิมจากปีที่แล้ว นั่นคือ กาม่า ซึ่งตรงจุดนี้ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดกับการใช้คนรู้จักมักคุ้นทีม เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อนพวกเขาจะเปลี่ยนและดึงโค้ชที่มีฝีมือเข้ามา หากผลงานเริ่มส่อแววจะไม่ดี กระนั้นการใช้คนคุ้นเคยมันมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องปรับตัวใดๆ แต่จุดด้อยของ กาม่า คือ ทรงบอลที่แสนจะธรรมดาและไร้อนาคต เพราะกุนซือชาวบราซิลผู้นี้นิยมระบบหลัง 3 และใช้การโยนจากด้านข้างเป็นหลัก กระทั่งการต่อบอลบนพื้นกลายเป็นของหาดูได้ยากจาก บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

ตามธรรมเนียมของ บุรีรัมย์ กับนักเตะโควตาต่างชาติ คือ เอามาแล้วเล่นไม่ได้ ก็จะโละทิ้งทันที ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา 11 ปี มีนักเตะต่างชาติเพียง 10 กว่าราย จากจำนวนครึ่งร้อยที่เข้าตา อย่างไรเสียในจำนวน 10 กว่ารายนี้ ก็ไม่มีรายไหนที่อยู่ได้นาน เพราะด้วยนโยบายที่ต้องการเติมความแกร่งแข็งไปเรื่อยๆ จึงทำให้โคตรตำนานอย่าง ดิโอโก หรือ ตูเญช ยังไม่รอดที่จะถูกโละ แต่แล้วปัญหาที่ บุรีรัมย์ ต้องเผชิญในช่วงหลัง คือ นักเตะต่างชาติเข้ามาแล้วยังปรับตัวไม่ค่อยได้ ทำให้เมื่อฤดูกาลก่อน ปราสาทสายฟ้าเปลี่ยนตัวต่างชาติ 4 รอบ ส่วนตัวที่โดนโละก็มีไปเล่นที่อื่นและกลายเป็นอาวุธเด็ดของคู่แข่งร่วมลีก ซึ่งในจุดนี้เริ่มสร้างความตระหนักต่อทีมว่าต้องให้เวลานักเตะต่างชาติได้ปรับตัว เพราะถ้าหากโละเป็นว่าเล่นไปเรื่อยๆ มันจะไม่มีจุดสิ้นสุด แต่กระนั้นการให้โอกาส โรซ่า, ดิเกา, ไมค่อน และ ซูลาก้า ดูเหมือนจะเป็นการให้โอกาสผิดคน เพราะทั้งหมดยังมีฟอร์มการเล่นที่ไม่ดีและไม่เข้ากับสเปคบอลโยนของ กาม่า ทำให้ไม่แปลกนักที่จะโดนแซวว่าตัวไทยแบกตัวต่างชาติ

ระบบลูกรักนับเป็นอีกปัญหาที่แสนว้าวุ่นใจของบุรีรัมย์ เพราะแรงปรารถนาของเจ้าท่านประธานสโมสร คือ อยากเห็นทีมเต็มไปด้วยเด็กที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขของบุรีรัมย์ แต่ในแง่ของความเป็นจริง เด็กบางคนศักยภาพถึง แต่เด็กอีกจำนวนมากศักยภาพไม่เพียงพอ ซึ่งการเข็นลงสนามแล้วอาศัยตัวเก๋าคนไทยกับตัวต่างชาติช่วย มันก็มิอาจช่วยได้นัก เพราะเกมฟุตบอล คือ การเล่นเป็นทีมของทั้ง 11 คน ฉะนั้นการให้โอกาสเด็กที่ศักยภาพไม่ถึง มันอาจตอบโจทย์ในแง่แรงปรารถนาของประธานสโมสร แต่มันจะไม่ตอบโจทย์ในแง่ของผลงาน    

จากนโยบายที่ผิดฝาผิดตัวแบบนี้ จึงไม่แปลกนักที่ผลงานของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จะยังคงห่างไกลจากยุคเรืองรอง แต่กระนั้นก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า ปราสาทสายฟ้า จะหาจุดเปลี่ยนในฤดูกาลนี้ได้หรือไม่ ซึ่งหากปีนี้มีจุดจบไม่ต่างจากเดิม เชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงอาจต้องเกิดขึ้นอีกครั้ง  

ติดตามข่าวสารกีฬาในทุกสัปดาห์ได้ที่ livethaileague.com

FB : Sport lover